กระดูกพรุน ภัยเงียบที่ป้องกันได้
เรียบเรียงโดย
ภก.กัณฑ์พนท์ จุฑาพชราภรณ์
เภสัชกรประจำร้านเฮลธิแมกซ์
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เกิดจากความหนาแน่นของกระดูก (Bone Density) น้อยผิดปกติ และคุณภาพกระดูก (Bone Quality) ผิดปกติ ทำให้ความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกหักง่าย โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังของกระดูกที่พบบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มักถูกมองข้ามเนื่องจากไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน จึงเป็นโรคที่ไม่ค่อยได้รับการตรวจหรือรักษา จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงอายุ 45-75 ปี มากกว่าร้อยละ 86 ไม่เคยปรึกษาเรื่องกระดูกพรุนกับแพทย์เลย ซึ่งการขาดความตระหนักส่งผลให้เกิดผลเสียตามมา ทั้งนี้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ยากและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โรคกระดูกพรุนจึงไม่ควรถูกมองข้าม หรือรอจนกระทั่งกระดูกหักก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความทุพพลภาพ ช่วยเหลือตนเองลำบาก คุณภาพชีวิตแย่ลง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
กลไกการเกิดโรคกระดูกพรุน
โครงสร้างของกระดูกประกอบด้วยสารคอลลาเจนและแร่ธาตุโดยเฉพาะแคลเซียม โดยปกติร่างกายสร้างและทำลายกระดูกตลอดเวลาโดยการควบคุมของระบบฮอร์โมนและเซลล์ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นถ้ากลไกการสร้างและทำลายกระดูกไม่สมดุลกัน เช่น มีการสลายกระดูกมากเกินไป หรือมีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป หรือกระดูกขาดแคลเซียม ก็จะทำให้เกิดโรคของกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุนได้
โดยทั่วไปมนุษย์มีค่าเฉลี่ยมวลกระดูกสูงสุดเมื่ออายุ 30 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะค่อยๆ ลดลง โดยพบว่าพันธุกรรมส่งผลต่อค่าเฉลี่ยมวลกระดูกสูงสุด (Peak Bone Mass) ถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว ปัจจัยสำคัญรองลงมาที่ทำให้เรามีค่าเฉลี่ยมวลกระดูกลดลงคือ อายุที่มากขึ้นและการขาดฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ยังพบว่าการไม่ออกกำลังกาย การดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้มวลกระดูกลดลงได้รวดเร็วเช่นกัน
วิธีการสังเกตว่าเสี่ยงหรือสงสัยว่าจะมีภาวะกระดูกพรุน
1. วัดส่วนสูง ลดลง 3 ซม. ต่อปี ซึ่งเกิดจากกระดูกสันหลังพรุนและกระดูกสันหลังยุบตัว ทำให้ส่วนสูงลดลง
2. หลังค่อมมากขึ้น
3. กระดูกหักง่าย แค่ล้มเบาๆ หรือเกิดอุบัติเหตุไม่รุนแรง โดยเฉพาะที่ข้อมือ หรือข้อสะโพก
โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการใดๆ ให้ระวัง แต่จะเกิดรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้วหรือกระดูกสันหลังทรุดก็จะทำให้ปวดหลัง หลังค่อม ดูเตี้ยลง เคลื่อนไหวได้ลดลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางรายอาจมีภาวะฟันหลุดได้ง่ายอีกด้วย
การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคกระดูกพรุน
การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (BMD) ใช้วิธีเดกซา (DEXA) ซึ่งย่อมากจาก Dual Energy X-ray Absorptiometry โดยใช้เกณฑ์วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน ซึ่ง WHO รับรอง โดยการตรวจที่กระดูกสันหลังระดับเอว และข้อสะโพก ร่วมกับเจาะเลือดตรวจหาระดับแคลเซียมและวิตามินดี ส่วนวิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เเน่ชัด เป็นเพียงการชะลอการเสื่อมหรือสูญเสียของมวลกระดูก ด้วยวิธีการใช้ยา เช่น เเคลเซียม วิตามินดี และยาลดการทำลายกระดูก ซึ่งยาลดการทำลายกระดูกเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง นอกจากนั้นยังมีการให้ฮอร์โมนทดแทน รวมไปถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ การลดโอกาสของการหกล้ม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักอีกด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่กระดูกหักแล้ว นอกจากทำให้เกิดความเจ็บปวด ช่วยเหลือตนเองลำบากแล้ว ยังมีโอกาสที่กระดูกจะหักซ้ำได้อีก จนบางรายเกิดอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะถ้าบริเวณที่หักคือกระดูกสันหลังและกระดูกข้อสะโพก อาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ปอดหรือในกระแสเลือด การเกิดแผลกดทับ หรือกระดูกผิดรูป ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
ทำได้โดยการส่งเสริมพฤติกรรมเพื่อสุขภาพความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งควรเริ่มปรับพฤติกรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อนถึงอายุ 30 ปี เพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้สูงสุดก่อนที่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งวิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนมีดังนี้
1. การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสารอาหารที่ให้แคลเซียมสูงและวิตามินดีสูง อย่างเช่น นม ผักใบเขียว ปลากรอบ หรือปลาเล็กปลาน้อยที่ทานได้ทั้งเนื้อและกระดูก เป็นต้น หรืออาจเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแคลเซี่ยมและวิตามินดี เป็นส่วนประกอบสำคัญ
2. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายชนิดยกน้ำหนัก (Weight-Bearing) และชนิดเสริมสร้างกำลังกล้ามเนื้อ (Muscle Strengthening) รวมถึงการเล่นกีฬาที่ใช้การเดินหรือวิ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยทำให้การทรงตัวดีขึ้นด้วย
3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพความแข็งแรงของกระดูก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและน้ำอัดลมเป็นประจำ
4. ควรรับแสงแดดอ่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือเย็นเพื่อให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นสร้างวิตามินดีที่มีคุณภาพ (Active Form) เพื่อดึงแคลเซียมไปใช้ในการสร้างมวลกระดูก
5. ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ ให้มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) อยู่ระหว่าง 20-23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (Kg/m2)
6. หมั่นดูแลสุขภาพจิตให้สดใสแข็งแรงควบคู่กับสุขภาพกาย
จะเห็นได้ว่าร่างกายแข็งแรงต้องเริ่มมาจากพื้นฐานของร่างกายที่แข็งแรงด้วย ฉะนั้นกระดูกของเราก็ต้องการการดูแลที่สม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นวัยใดๆ ควรใส่ใจในสุขภาพและหมั่นดูแลเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงทั้งภายในและภายนอก หากมีสุขภาพดี สุขภาพจิตของเราก็ดี มีความสุขตามไปด้วยแน่นอน
อย่าลืม! กดไลค์กดแชร์และกดติดตาม https://bit.ly/3hC33eD
Youtube : HealthyMaxChanel
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.