“หนาวนี้กอดใคร หนาวมั้ยให้เราดูแล” ด้วยการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
เรียบเรียงโดยภก.กัณฑ์พนท์ จุฑาพชราภรณ์เภสัชกรประจำร้านเฮลธิแมกซ์
“เมื่อลมหนาว พาสาวหวั่นไหว...หนาวหัวใจยิ่งกว่าลม ไม่อยากผิงไฟ ไม่อยากใช้ผ้าห่ม...อยากใช้คนคลายหนาว”
เมื่อได้ยินบทเพลงนี้…ก็แสดงว่าตอนนี้ก็เริ่มเข้าหน้าหนาวแล้ว เราได้เตรียมตัวไว้พร้อมรับหน้าหนาวแล้วหรือยังในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู ปลายฝน ต้นหนาว อากาศในบ้านเราก็มักจะแปรปรวน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวก็หนาวทำให้บางคนมีอาการ ไข้หวัด หรือแพ้อากาศได้ง่าย แต่ไม่เป็นไร เพียงแค่เราเตรียมตัว (สุขภาพกาย) เตรียมใจ (สุขภาพจิต) และเตรียมยาให้พร้อม เพื่อรับมือกับโรคภัยที่มากับ ลมหนาว ที่จะถึงนี้ก็อุ่นได้ทั้งกายและใจ
1. การเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดย
– พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามนอนให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ถึงแม้บางคน ต้องมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำมากมาย ในแต่ละวัน นั่นคือ อย่างช้าที่สุดไม่ควรเกิน 5 ทุ่ม
– กินอาหารให้หลากหลายครบ 5หมู่ โดยเฉพาะอาหารเช้า ซึ่งสำคัญที่สุดต่อร่างกายและสมอง ควรพยายามรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการได้รับสารเคมีมากเกินควร
– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2-3ครั้ง ในแต่ละครั้งออกกำลังกายให้ได้ ½ ชั่วโมง-1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
2. การเตรียมสุขภาพจิตให้แข็งแรง โดย
– การรักตัวเอง รักคนรอบข้าง การมีความปรารถนาดีต่อกัน การชื่นชมตนเอง ชื่นชมคนอื่น การนับถือตนเอง นับถือคนอื่น
– รู้จักการแบ่งปัน การมีความสุขกับการให้ และยินดีกับการได้รับ
– อย่าจมปรักอยู่กับความเศร้าหรือความทุกข์นานเกินไป จนลืมว่าความสุขและแสงสว่างในชีวิตอยู่รอบๆ ตัวเรา
– อยู่กับธรรมะหรือศรัทธา ในหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ
3. การเตรียมยา ให้พร้อมรับมือกับอาการไข้หวัดหน้าหนาวถึงแม้เมื่อร่างกายและจิตใจแข็งแรงแล้ว แต่โรคภัยไข้เจ็บมักมากับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเรามาเตรียมยาและอุปกรณ์ที่ใช้ในหน้าหนาวกันดีกว่า
• ยาลดไข้บรรเทาปวด ซึ่งถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านต้องควรมีติดบ้านไว้ โดยยาลดไข้และบรรเทาปวดแบ่งออกเป็น
1. ยา Paracetamol หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Acetaminophen ซึ่งเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย สามารถลดอาการปวดและ ไข้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่และไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงและควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ปริมาณ และจำนวนครั้งที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยและให้ผลในการรักษา โดยผู้ใหญ่ที่มีอาการไข้หรือปวด ควรรับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด หรือ ครั้งละ 500 mg. ทุก 4-6 ชั่วโมง และในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 8 เม็ด และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องดื่มน้ำตามมากๆ เพราะ ยา Paracetamol นั้น หากเราดื่มน้ำน้อยก็จะเกิดความเป็นพิษต่อตับได้ง่าย
2. ยากลุ่ม NSAID (Non-Steroid Anti-inflamatory drug) ได้แก่ Aspirin, Ibuprofen ซึ่งเป็นยาที่บรรเทาอาการปวดได้ดีกว่าและใช้ในกรณีมีไข้สูง แต่ก็มีผลข้างเคียงคือระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดลดลง ทำให้เลือดหยุดยาก ดังนั้นจึงเป็นข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นไข้เลือดออก โดยยากลุ่มนี้ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
• ยาแก้ไอ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ยาขับเสมหะ ละลายเสมหะ ยากลุ่มนี้จะทำให้เสมหะไม่ข้นเหนียว สามารถขับออกมาได้ง่าย ได้แก่ Ambroxol, Bromhexane, Guaifenecin เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยหรือเราอาจใช้ยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ละลาย เสมหะได้เช่นกัน ได้แก่ ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาแก้ไอมะแว้ง เป็นต้น
2. ยากดอาการไอ ซึ่งเป็นยาที่ใช้กับอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ซึ่งจะทำให้เราไอน้อยลง แต่จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น ง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง เนื่องจากฤทธิ์องยาซึ่งกดศูนย์การไอ ที่ประสาทส่วนกลาง นอกจากทำให้ง่วงซึมแล้วอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและยาชนิดนี้ย้ำว่าต้องใช้ในในกรณีที่ไอแห้งเท่านั้น เพราะหากมีเสมหะมากยาชนิดนี้ซึ่งมีฤทธิ์กดการไอ ทำให้เสมหะไม่ไหลออกมาซึ่งจะทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิม ยาชนิดนี้ได้แก่ dextromethorphan, Levodropropizine เนื่องจากข้อจำกัดข้างต้น เราจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน ไม่ควรหาซื้อยานี้เอง
• ยาแก้คัดจมูกและลดน้ำมูก
1. ยาแก้คัดจมูกหรือแก้อาการแน่นจมูกหรือหายใจไม่ออก ได้แก่ ยากลุ่ม Pseudoephedine (ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ไม่สามารถหาซื้อเองได้ตามร้านยาทั่วไปและจ่ายเฉพาะในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น ) ยากลุ่มนี้ที่ประชาชนสามารถหาซื้อได้ในร้านยา ได้แก่ Phenylephene ซึ่งมักจะผสมกับยาแก้แพ้อากาศ ลดน้ำมูก เช่น Chorpheniramine, Brompheniramine เป็นต้น
2. ยาแก้แพ้อากาศ แบ่งออกเป็น ชนิดที่กินแล้วง่วงมาก ได้แก่ Chorpheniramine, Brompheniramine และชนิดที่ไม่ง่วงหรือง่วงน้อย ได้แก่ Cetirizin, Loratadine, Levocetirizin, Desloratadine, Fexofenidine เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้หากเราจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
3. น้ำเกลือล้างจมูกเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีติดบ้านไว้เมื่อเข้าหน้าหนาว หากมีอาการคัดแน่นจมูกหรือมีน้ำมูกเกรอะกรัง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เป็นภูมิแพ้เรื้อรัง
• อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดูแลตัวเองในช่วงหน้าหนาวอีกอย่าง คือ
1. ปรอทวัดไข้ ที่มีทั้งแบบแท่งแก้ว แบบ digital แบบแผ่นแปะหน้าผาก แบบระบบ Infrared ที่มีทั้งยิงวัดทางหน้าผากและยิงวัดทางหู เป็นต้น
2. หน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่จะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
ทั้งนี้หากเราพบว่าเรามีอาการไข้หวัดที่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการเจ็บคอมาก มีเสมหะเขียว เหลือง นั่นแสดงเรามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ในการใช้ยาปฏิชีวนะเพียงแค่นี้ ถ้าคุณดูแลตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือดังที่กล่าวข้างต้น หนาวนี้…ก็จะไม่หนาวใจ อย่างที่คิด