สุขภาพปาก ส่งผลต่อสุขภาพกายได้อย่างไร?

เรียบเรียงโดย
ภญ.ทิพศรา เภตราไชยอนันต์
เภสัชกรประจำร้านเฮลธิแมกซ์

รู้จักกับจุลินทรีย์ในช่องปาก

           ในปากของเราเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จำนวนมากรวมทั้งแบคทีเรีย ในแต่ละส่วนของปากจะมีแบคทีเรียต่างชนิดกัน เช่น แบคทีเรียบนลิ้นก็จะเป็นคนละสายพันธุ์กับแบคทีเรียบนผิวฟัน โดยแบคทีเรียบางสายพันธุ์ก็เป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ บางสายพันธุ์ก็ให้โทษ

           แบคทีเรียที่มีประโยชน์ เรียกอีกชื่อนึงว่า Probiotics ตัวอย่างแบคทีเรียที่เป็น Probiotics เช่น S. Salivariusแบคทีเรียที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์คือ แบคทีเรียสกุล Lactobacillus และ Bifidobacterium โดยแบคทีเรียดีเหล่านี้จะช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยป้องกันแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ให้โทษไม่ให้เข้ามาก่อโรคได้ ป้องกันการเกิดกลิ่นปาก ป้องกันการเกิดคราบพลัค โดย probiotics จะต่อต้าน Streptococcus mutans ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโทษ

จุลินทรีย์ในช่องปาก ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

           ปกติแล้วจุลินทรีย์ในช่องปากมักไม่เข้าไปก่อโรคตามอวัยวะอื่นๆ แต่ในกรณีที่มีแผลในช่องปาก หรือมีโรคปริทันต์อักเสบ จุลินทรีย์ในช่องปากก็จะหลุดเข้าไปในกระแสเลือด และไปก่อนโรคในอวัยวะอื่นๆได้ ในขณะเดียวกัน การกลืนแบคทีเรีย P. gingivialis ซึ่งก่อโรคปริทันต์อักเสบในช่องปากเข้าไปจำนวนมาก ก็สามารถทำให้สมดุลจุลินทรีย์ในกระเพาะและลำไส้เสียไป เกิดโรคในทางเดินอาหารอื่นๆตามมาได้อีก

มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในช่องปากกับโรคต่างๆ ดังนี้

           โรคในทางเดินอาหาร : แบคทีเรียจากช่องปากสามารถลงไปในทางเดินอาหารพร้อมน้ำลาย และสามารถก่อให้เกิดความไม่สมดุลได้ทุกส่วนของทางเดินอาหารตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก โดยงานวิจัยแสดงว่าแบคทีเรียในปากจำนวนมากจะไปทำให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ลดลง ก่อให้เกิดการอักเสบตามมา เช่นเชื้อ Klebsiella spp. จากน้ำลายสามารถก่อให้เกิดโรคลำไส้อักเสบได้ ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง เมื่อตรวจเซลล์ตับก็พบว่ามีแบคทีเรียจากช่องปากมากกว่าในคนปกติมาก นอกจากนี้จะมีการศึกษาพบว่าแบคทีเรียจากช่องปาก P. gingivialis และ Aggregatibacter acinomycetemcomitans มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอ่อนอีกด้วย

           โรคทางระบบประสาท : มีการศึกษาพบว่าในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีเชื้อ Treponema ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นจากช่องปากอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ไม่พบเชื้อนี้ในสมองของคนปกติ แสดงถึงความสัมพันธ์ของแบคทีเรียในช่องปากกับโรคอัลไซเมอร์

           โรคต่อมไร้ท่อ : โรคเบาหวานและโรคปริทันต์อักเสบมีความสัมพันธ์กันทั้งสองทาง คือคนที่เป็นปริทันต์อักเสบก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น ในทางกลับกันคนที่มีโรคเบาหวานก็จะจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคปริทันต์อักเสบมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสัมพันธ์กับการที่โรคเบาหวานทำให้เชื้อก่อโรคปริทันต์อักเสบในปากมีจำนวนมากขึ้น และแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบจะทำให้ความไวต่ออินซูลินลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

           โรคทางภูมิคุ้มกัน : ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะพบว่ามีความไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องปากและช่องท้อง คือเชื้อ Haemophilus spp. จะลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่เชื้อ Lactobacillus salivarius จะเพิ่มมากขึ้นตามความรุนแรงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ส่งผลให้การเมทาบอลิซึมของธาตุเหล็ก กำมะถัน สังกะสี และอาร์จินีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงไป  นอกจากนี้ในผู้ป่วย HIV จะมีความหลากหลายของแบคทีเรียในช่องปากลดลง โดยมีสัดส่วนของแบคทีเรียก่อโรคเพิ่มขึ้น แม้ผู้ป่วยรายนั้นจะสามารถคุมโรคได้อยู่ในระดับที่ดีมากก็ตาม

Leave a comment